วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ภูมิปัญญาข้าวไทย

ข้าวกับวิถีชีวิตคนไทย









        วิถีชีวิตคนไทย และคนในเอเชีย นับแต่อดีตมุ่งปลูกข้าวเพื่อบริโภคเป็นหลัก เหลือเก็บในยุ้งฉางก็จะนำไปแลกเปลี่ยนกับปัจจัยอื่นๆ บ้าง ที่จำเป็นจริงๆ เช่น เสื้อผ้า ยารักษาโรค หรืออาหารประเภทอื่นๆ แต่ไม่นิยมขายข้าว ไม่แลกเปลี่ยนข้าวกับเครื่องมือประหัตประหาร เพราะคนไทยเชื่อว่าข้าวเป็นสิ่งที่มีบุญคุณ มีจิตวิญญาณ มี
พระแม่โพสพประจำอยู่ ข้าวเป็นอาหารในบริโภคเท่านั้น ไม่ใช่พืชเศรษฐกิจ

       อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมจากหลากหลายประเทศได้เข้ามา และยุคสมัยก็ทำให้ข้าวเปลี่ยนเป้าหมายเป็นการค้าขายมากขึ้น จนปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่มีการทำนาหลายครั้งได้ในรอบปี ทำให้ชาวนาส่วนใหญ่มุ่งทำนาเพื่อ
ขายข้าวเป็นหลัก โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้น เช่น รถแทรกเตอร์ ปุ๋ยเคมี เพื่อให้ได้ผลผลิตเร็วที่สุด และมากที่สุด โดยไม่ได้คำนึงถึงระบบนิเวศ และจารีตประเพณีที่สืบต่อกันมา

       ย้อนกลับไปถึงการทำนา หรือการปลูกข้าว ซึ่งเป็นวัฒนธรรมไทยที่สืบต่อกันมาแต่โบราณ และการทำนาก็ต้องพึ่งพาธรรมชาติ คนในเกษตรสังคมจึงให้ความสำคัญและเคารพธรรมชาติ ทำให้มีพิธีกรรมและความเชื่อมากมาย ทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตข้าว มีทั้งพิธีกรรมส่วนครอบครัว ส่วนชุมชน ส่วนชุมชนที่พระมหากษัตริย์และราชการจัดขึ้น เป็นการปลูกฝังพฤติกรรมทางจริยธรรม ผูกจิตวิญญาณของคนไทยไว้กับข้าวจนเกิดเป็นวัฒนธรรม   

ข้าวสร้างวัฒนธรรมไทย
    คนไทยบริโภคข้าวอย่างมีระเบียบวิธี และมีลักษณะเฉพาะ เช่น กระบวนการแปรรูปข้าวเพื่อการบริโภค โดยทำให้ข้าวสุกด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การหุงต้ม การนึ่ง การหลาม เป็นเหตุให้มีความต้องการภาชนะที่แตกต่างกัน ส่วนอาหารที่คนไทยบริโภคควบคู่กับข้าวนั้น เราก็เรียกว่า “กับข้าว” ทำให้เกิดวัฒนธรรมในการจัดแต่งสำรับทั้งข้าวและกับข้าว
อีกด้วย

       ข้าวถูกนำมาใช้ในวัฒนธรรมด้านภาษาโดยเป็นสำนวนเปรียบเทียบ คำพังเพย หรือสุภาษิตต่างๆ เช่น ข้าวแดงแกงร้อน ข้าวใหม่ปลามัน ชายข้าวเปลือก หญิงข้าวสาร
ทุบหม้อข้าว ทำนาบนหลังคน ข้าวยากหมากแพง ข้าวนอกนา เป็นต้น ข้าวยังอยู่ในเพลงร้องต่างๆ หรือคำทักทายง่ายๆ ของคนไทย เช่น ไปไหนมา กินข้าวหรือยัง?” อีกด้วย
       ข้าวมีความสำคัญในการกำหนดศักดินา เช่น ในสมัยสุโขทัย มีการกำหนดที่นาและไพร่ให้เสนาบดีขุนนาง ตามความสามารถในการบุกเบิกที่ดินทำกิน มีการจัดตั้ง กรมนาขึ้นเพื่อรับผิดชอบด้านการเกษตรโดยตรง ต่อมากลายเป็นกระทรวงพานิชการในสมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปัจจุบัน

วัฒนธรรมข้าวพื้นบ้าน กับวัฒนธรรมข้าวสมัยใหม่

    วิถีการดำเนินชีวิตเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งส่งผลต่อแนวความคิดที่มีต่อข้าว เพราะแต่เดิมเราปลูกข้าวเพื่อบริโภค วิธีการต่างๆ จึงเป็นวิธีการที่อยู่ร่วมได้กับธรรมชาติ ความรู้ก็เกิดจากประสบการณ์ที่สั่งสมกันมาเป็นมรดกตกทอด มีการใช้แรงงานสัตว์ เก็บเกี่ยวนวดด้วยเครื่องมือพื้นบ้าน ใช้มูลสัตว์เป็นปุ๋ย กำจัดศัตรูพืชและวัชพืชโดยการถอนหรือใช้สมุนไพร ใช้คราด ไถ มีด พร้า จอบ เคียว เป็นเครื่องมือ หากแต่ในปัจจุบันวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก ในการปลูกข้าวเพื่อค้าขาย อีกทั้งแนวคิดหลักของการปลูกข้าวได้เปลี่ยนไป ทำให้วิธีการเปลี่ยนไปด้วย โดยการใช้เครื่องจักรกลเตรียมดิน ใช้ปุ๋ยเคมีบำรุงต้นกล้า ใช้สารเคมีและเครื่องจักรในการกำจัดศัตรูพืชและวัชพืช ปลูกข้าวพันธุ์ผสม ทดน้ำด้วยระบบชลประทานสมัยใหม่ แน่นอนว่าแต่ละวิธีการย่อมต้องมีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป หากแต่สิ่งสำคัญที่สุดที่เทคโนโลยีไม่สามารถสร้างสรรค์ขึ้นได้ก็คือ จิตวิญญาณของคนที่มีต่อข้าวนั่นเอง



วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประวัติ


            ผ้าไหมมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนและประเทศอินเดีย การทอผ้าไหมมีขึ้นราว 2,640 ปี ก่อนคริสตกาล พ่อค้าชาวจีนได้เผยแพร่ผ้าไหมสู่พื้นที่อื่นในแถบเอเชีย สำหรับประเทศไทยนักโบราณคดีพบหลักฐานที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงซึ่งบ่งชี้ว่ามีการใช้ผ้าไหมเมื่อ 3,000 ปีก่อน
การทอผ้าไหมในประเทศไทยในอดีตมีการทำกันในครัวเรือนเพื่อใช้เอง หรือทำขึ้นเพื่อใช้ในงานพิธี เช่น งานบุญ งานแต่งงาน ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้ส่งเสริมให้ใช้ผ้าไหม ส่วนการปลูกหม่อนเพื่อเลี้ยงไหมได้รับการสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่น แต่การดำเนินงานของโครงการก็ทำได้เพียงระยะหนึ่งมีอันต้องหยุดไป เนื่องจากเกษตรกรไทยยังคงทำในลักษณะแบบเดิมเพราะความเคยชิน ไม่ตอบรับต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่แบบใหม่ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นจากความช่วยเหลือของญี่ปุ่น
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของผ้าไหมไทยขึ้น โดย เจมส์ แฮร์ริสัน วิสสัน ทอมป์สัน ชาวสหรัฐอเมริกาหรือที่คนไทยรู้จักในนามว่า จิม ทอมป์สัน ซึ่งเป็นผู้ที่ให้ความสนใจผลงานด้านศิลปะ ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย รวมทั้งลาว และเขมร จิม ทอมป์สัน ได้ซื้อผ้าไหมไทยลวดลายต่างๆ เก็บสะสมไว้ และทำการศึกษาลวดลายผ้าไหมในหมู่บ้านที่เป็นแหล่งการผลิตผ้าไหม พร้อมกับเสาะแสวงหาช่างทอผ้าไหมฝีมือดี ในที่สุดได้พบช่างมีฝีมือถูกใจที่กรุงเทพมหานคร บริเวณชุมชนบ้านครัว (หลังโรงแรมเอเชีย เขตราชเทวีในปัจจุบัน)
ชุมชนแห่งนี้เดิมเป็นชาวมุสลิมเชื้อสายเขมร อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ตั้งแต่ตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีความชำนาญในการทอผ้าไหม ซึ่ง จิม ทอมป์สัน ได้เข้ามาสนับสนุนให้ชาวบ้านในชุมชนทอผ้าไหม สามารถสร้างรายให้ชาวบ้านมากขึ้น หลังจากนั้นได้มีการปรับปรุงผ้าไหมไทยโดยใช้หลักการตลาด การผลิต เพื่อขยายตลาด และทำการบุกเบิกผ้าไหมของไทยไปสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และแพร่เข้าสู่วงการภาพยนตร์ของชาติตะวันตก และ ละครบรอดเวย์

ในปี พ.ศ. 2502 นักออกแบบชาวฝรั่งเศสได้ใช้ผ้าไหมไทยทำการออกแบบและตัดเย็บฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ครั้งเสด็จเยือนประเทศสหัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ถือได้ว่าเป็นการเปิดโอกาสผ้าไหมของไทยสู่ตลาดต่างประเทศ

ระดับคุณภาพ


ในปัจจุบันมีการนำเข้าวัตถุดิบเส้นไหม และเส้นใยสังเคราะห์จากต่างประเทศ ทั้งมีการนำเข้าถูกกฎหมายและลักลอบนำเข้าแบบผิดกฎหมาย ทำให้วัตถุเส้นไหมจึงมีทั้งคุณภาพได้มาตรฐานและคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานทำให้ผ้าไหมไทยมีคุณภาพต่ำลง กระนั้นผู้ผลิตก็ยังคงใช้ตราสัญลักษณ์ว่า "ผ้าไหมไทย" หรือ "Thai Silk" เพื่อการค้า ยังผลให้ผู้ซื้อทั้งของประเทศไทยและตลาดต่างประเทศไม่มั่นใจในคุณภาพของผ้าไหมไทย จากปัญหาดังกล่าวสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงมีกระแสพระราชดำรัสให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปดำเนินการวิเคราะห์หาสาเหตุและแนวทางการแก้ไข
ปี พ.ศ. 2545 หน่วยงานซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับผ้าไหมไทย เช่น กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (หน่วยงานเดิมของกรมหม่อนไหม) คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ร่วมกันจัดสัมมนาหาแนวทางแก้ไขจนได้ข้อสรุปเป็นมาตรการคุ้มครองไหมไทยและออกข้อบังคับในการผลิตผ้าไหมไทยโดยออกตราสัญลักษณ์รับรองคุณภาพผ้าไหมไทยไว้เป็นระดับต่างๆ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญลักษณ์นกยูงไทย ให้เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพสำหรับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยไว้ 4 ชนิด
  • นกยูงสีทอง (Royal Thai Silk) เป็นผ้าไหมชึ่งผลิตจากวัตถุดิบ เส้นไหม กระบวนการผลิตแบบภูมิปัญญาพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยอย่างแท้จริงและใช้เส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านเป็นทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน เส้นไหมจะต้องสาวเส้นด้วยมือผ่านพวงสาวลงภาชนะ การทอด้วยกี่ทอมือแบบพื้นบ้านชนิดพุ่งกระสวยด้วยมือ ย้อมด้วยสีธรรมชาติ หรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และต้องผลิตในประเทศไทย
  • นกยูงสีเงิน (Classic Thai Silk) เป็นผ้าไหมซึ่งผลิตขึ้นแบบภูมิปัญญาพื้นบ้านผสมผสานกับการประยุกต์ใช้เครื่องมือและกระบวนการผลิตในบางขั้นตอน ใช้เส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านหรือที่ได้รับการปรับปรุงจากพันธุ์ไทยเป็นเส้นพุ่งหรือเส้นยืน เส้นไหมต้องผ่านการสาวด้วยมือ หรืออุปกรณ์ที่ใช้มอเตอร์ขับเคลื่อนขนาดไม่เกิน 5 แรงม้า การทอต้องทอด้วยกี่ทอมือชนิดพุ่งกระสวยด้วยมือหรือกี่กระตุก และต้องทำการผลิตในประเทศไทย
  • นกยูงสีน้ำเงิน (Thai Silk) เป็นผ้าไหมซึ่งผลิตด้วยภูมิปัญญาของไทยโดยการประยุกต์เทคโนโลยีการผลิตให้เข้ากับสมัยนิยมและทางธุรกิจธุรกิจ ใช้เส้นไหมแท้เป็นเส้นพุ่งและเส้นยืน ย้อมสีด้วยสีธรรมชาติ หรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทอด้วยกี่แบบใดก็ได้ และต้องผลิตในประเทศไทย
  • นกยูงสีเขียว (Thai Silk Blend) เป็นผ้าไหมซึ่งผ่านกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ผสมผสานกับภูมิปัญญาไทย เช่น ลวดลาย สีสัน ใช้เส้นใยไหมแท้กับเส้นใยอื่นที่มาจากวัสดุธรรมชาติ หรือเส้นใยสังเคราะห์ต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน หรือตามความต้องการของผู้บริโภค เส้นไหมแท้เป็นองค์ประกอบหลัก มีเส้นใยอื่นเป็นส่วนประกอบรอง สัดส่วนการใช้เส้นใยชนิดอื่นประกอบต้องระบุให้ชัดเจน ทอด้วยกี่ชนิดใดก็ได้ ย้อมสีด้วยสีธรรมชาติ หรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และต้องผลิตในประเทศไทย



การส่งออก

มูลค่าการส่งผ้าไหมไทยไปต่างประเทศในปี พ.ศ. 2553 มูลค่าการส่งออกผ้าไหมของไทยมีประมาณ 683 ล้านบาท ตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดผ้าไหมใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของผ้าไหมไทย